top of page
Ratchakorn Wetworanan

บอร์ดเกมกับการพัฒนาความคิด


"บอร์ดเกมกับการพัฒนาการคิด"

.

คำถามมากมายที่ถูกถามในช่วงที่แอดมินได้ออกงานนำเอาบอร์ดเกมไปโชว์ในที่ต่าง ๆ

.

มีอยู่คำถามหนึ่งที่ถูกถามอยู่เสมอคือ "บอร์ดเกมพัฒนาการคิดของผู้เล่นได้อย่างไร และพัฒนาด้านไหนบ้าง"

.

หากในมุมมองของผู้พัฒนาบอร์ดเกมการเรียนรู้ที่ได้ทดลองใช้กับนักเรียนและเก็บข้อมูลมาส่วนหนึ่ง พบว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านการคิดในด้านต่าง ๆ ดังนี้

.

1. ด้านการคิดเชิงแก้ปัญหา

.

แน่นอนนว่ารูปแบบกลไกในการเล่นของบอร์ดเกม ส่วนที่มีสันสันเป็นอย่างมากคือ เงื่อนไข (Conditions) ที่เกิดขึ้นในเกมที่จำเป้นต้องตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งนำไปสู่การเสียโอกาสของผู้เล่น เช่น หากเล่นการ์ดแล้วจะไม่สามารถซื้อของได้นะ หรือถ้าอยากซื้อของก็ห้ามเล่นการ์ดนะ เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 3 อย่างที่กำหนดให้ เป็นต้น

.

เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ตรงกับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างที่คุณ ๆ รู้กันว่าในแต่ละวันเราจะพบเจอกับสถานการร์ที่ต้องเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ต้องไปให้ทันจะไปรถไฟ รถเมล์หรือแท็กซี่ดี ถ้าไปแท็กซี่จะไม่เหลือเงินไปกินข้าวกลางวันนะ แต่ถ้าไปรถเมล์ไม่ทันแน่นอน หรือถ้าไปรถไฟก้เลทอีกไม่รู้จะมากี่โมง เป็นต้น

.

ดังนั้นแล้วบอร์ดเกมจะจำลองสถานการณ์ที่ผุ้เล่นจะต้องแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ที่จำกัดเฉพาะให้ผ่านไปได้ด้วยดี อาจจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ควรที่จะต้องได้รับผลเสียมากเกินไปด้วย เป็นการร่นระยะเวลาและเป็นการเซฟตนเอง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการคิดเชิงแก้ปัญหา เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเจอปัญหาจริง ๆ หรอก และจากประสบการณ์ส่วนตัวหากต้องไปรอเรียนรู้กับประสบการณ์ในชีวิตจริง ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเพียงพอที่จะเกิดการคิดเชิงแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นบอร์ดเกมจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยย่นระยะเวลาในการฝึกฝนและที่สำคัยไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับสถานการณ์จริงอีกด้วย

.

จากทักษะในศตวรรษที่ 21 จะมีส่วนของการเรียนรู้และนวัตกรรมที่ระบุว่าผู้เรียนจะต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา (Problem solving) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ดังนั้นแล้วหากมีงานวิจัยที่นำเสนอเกี่ยวกับการนำบอร์ดเกมมาใช้พัฒนาทักษะการคิดเชิงแก้ปัญหา ส่วนตัวแอดมินคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ต่อสภาพการณ์ในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนยึดติดกับเทคโนโลยีจนลืมที่จะพัฒนาทักษะที่สำคัญบางประการ อย่างการคิดเชิงแก้ปัญหา เป็นต้น

.

2. ด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์

.

เพียงแค่เล่นเกม ก็เกิดความคิดสร้างสรรค์แล้วหรือ?

.

แล้วอะไรคือความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร ?

.

Guilford (1956) ได้กำหนดลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่

1. คิดคล่อง - คิดได้มากในเวลาจำกัด

2. คิดยืดหยุ่น - คิดได้หลากหลายประเภทหรือแนวทาง

3. คิดริเริ่ม - คิดหาสิ่งแปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับผู้อื่น

4. คิดละเอียดลออ - คิดกำหนดรายละเอียดบ่งชี้ถึงการสร้างและนำไปใช้ ลงดีเทล

.

Osborn (1957) กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นจินตนาการประยุกต์ (Applied imagination) ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน

.

Baron and May (1960) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์คือความสามารถของมนุาย์ที่จะนำไปสู่สิ่งใหม่ ๆ เกิดผลผลิตใหม่ ๆ รวมทั้งความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งแปลกใหม่

.

Wescott and Smith (1963) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์คือกระบวนการทางสมองที่นำเอาความรู้และประสบการณ์เดิมมาจัดให้อยู่ในรูปแบบใหม่

.

Spearman (1963) กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์คือ อำนาจจินตนาการของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงานหรือสิ่งที่แปลกใหม่

.

จริง ๆ ก็อยู่ที่การตีความของแต่ละบุคคล ออกเป็นแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสรุปแล้วความคิดสร้างสรรค์ก็คือความสามารถของมนุษย์ในการคิดอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมแต่ก็ยังตั้งอยู่กับความรุ้และประสบการณ์เดิม หากสังเกตจากสิ่งรอบตัว อะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็นผลผลิตจากความสร้างสรรค์จริง ๆก็ก่อเกิดจากสิ่งพื้นฐานทั้งสิ้น เช่น เก้าอี้แบบพกพา ที่มีพื้นฐานเดิมคือเก้าอี้ที่ใช้สำหรับนั่ง แต่มีปัญหาที่ว่าเวลาเดินทางไปต่างที่จะหาที่นั่งลำบาก จึงคิดสร้างเก้าอี้ที่พับได้เพื่อแก้โจทย์ที่เป็นปัญหาจริงได้ เป็นต้น

.

ดังนั้นแล้วจุดร่วมที่ทำให้บอร์ดเกมสามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นก็มาจากการตีโจทย์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างเล่นเกมให้สามารถแก้ไขปัญหาได้หลากหลายรูปแบบเพื่อนำไปสู่การกำชัยชนะในเกม หรือถ้ามองง่าย ๆ ก็คือระหว่างเล่นในแต่ละตาอาจจะมีการจำลองสร้างแผนการเล่นในหัว โดยตอนแรกก็เล่นตามแผน A แต่เกิดจุดพลิกผันบางอย่างในเกมทำให้ไม่สามารถใช้แผน A ต่อได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจากแผน A เป็นแผน B และอาจเกิดการปรับเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะจบเกม ดังนั้นแล้วผู้เล่นจะได้ฝึกการคิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดลออ หรืออาจนำไปสู่การคิดริเริ่มทั้งในเกมคือการสร้างรูปแบบแผนใหม่ที่ยังไม่มีใครคิด หรือนอกเกมก็อาจเกิดการนำไปต่อยอดเป็นระบบเกมของตนเองก็ได้

.

3. ด้านการสื่อสาร

.

มนต์เสน่ห์ของบอร์ดเกมอย่างหนึ่งคือการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นเกม...

.

จริงอยู่ว่าการสื่อสารระหว่างเล่นเกมอื่น ๆ นั้นเกิดขึ้นเป็นปกติทั่วไป แต่ผมคิดว่าการสื่อสารระหว่างเล่นบอร์ดเกมนั้นผ่านกระบวนการคิด วางแผน และประเมินบุคลิภาพของผู้เล่นอื่นผ่านท่าทีที่แสดงออก ไปจนถึงการรังสรรค์ประโยคหรือข้อความที่ส่งผลต่อการดำเนินของเกมอยู่ไม่น้อย

.

โดยเฉพาะเกมบลัฟ (เกมที่ต้องใช้ทักษะการหลอกล่อ หรือที่เรียกทั่ว ๆ ไปว่า เกมโกหก) ที่ต้องพูดโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตาม โดยการหยิบยกหลักฐานและการให้เหตุผลที่มีความน่าเชื่อถือมาประกอบ ซึ่งผู้ที่รับสารจำเป็นจะต้องใช้กระบวนการตัดสินใจให้ดี โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของหลักฐาน และความสมเหตุสมผลของการให้เหตุผล ดังนั้นผูเล่นที่ไม่ได้พิจารณาส่วนนี้อย่างถี่ถ้วนก็จะตกเป็นเหยื่ออันโอชะในเกม การเรียนรู้ในความผิดพลาดที่ผ่านมาจะสอนให้ผู้เล่นเริ่มที่จะใส่ใจรายละเอียดมากยิ่งขึ้นและเริ่มที่จะไม่ไว้ใจคำพูดโน้มน้าว แต่ใส่ใจในความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของหลักฐาน และการให้เหตุผลแทน (ข้อค้นพบจากงานวิจัยของแอดมินเอง)

.

การสื่อสารที่ปรากฏในขณะเล่นบอร์ดเกมไม่ได้มีแค่การเลือกใช้ภาษาพูดเท่านั้นแต่ยังปรากฏการใช้ลักษณะน้ำเสียง ความคล่องในการพูด เป็นต้น รวมถึงภาษากายก็เป็นส่วนที่แสดงออกได้ชัดเจนมาก และยังมีผลต่อบรรยากาศในวงอีกด้วย

.

จากบทความข้างต้นเป็นเพียงการสรุปของแอดมินผ่านประสบการณ์ที่นำไปใช้จริงในห้องเรียน

.

หากคุณครูหรือผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะสามารถคอมเมนท์ไว้ได้เลยนะครับ

.

******************************

เอกสารอ้างอิง

.

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ การคิดเชิงสร้างสรรค์

.

การประยุกต์ใช้บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง

.

ดู 2,878 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page