เมื่อนำ "เกม" หรือ "บอร์ดเกม" มาใช้ทางการศึกษา
ส่วนสำคัญคือข้อมูล หรือเนื้อหาที่อยู่ในเกมที่ทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเล่น
.
แต่ "ความสนุก" ก็ยังคงเป็นส่วนผสมหลักอีกอย่างที่สำคัญ
หากเกมไม่สนุก แล้วผู้เล่นจะสนใจได้อย่างไร
ดังนั้นมาดูกันครับว่า 5 วิธีสร้างความสนุกให้กับ Board game การศึกษา มีอะไรบ้าง?
.
วิธีที่ 1 Theme & Story
.
ธีมและเรื่องราวที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบของเกม
จะช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกอินและเข้าถึงเนื้อหาภายในเกมได้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งถ้าเป็นบอร์ดเกมการศึกษา ที่เป็นเนื้อหาในบทเรียน
จะทำให้ผู้เล่นอินกับการเล่นได้ง่าย
.
เช่น บอร์ดเกมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่
ถ้าใช้ธีมเป็นการแข่งขันวิ่งแข่ง
และหยิบเรื่องราวการใช้ความเร็วและเวลาเข้ามาใช้ในการเล่น
ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นรู้สึกอินและเข้าใจได้ง่าย
.
ข้อดี ทำให้ผู้เล่นเข้าถึงและอินกับเกมได้มากขึ้น
ข้อเสีย ถ้าออกแบบไม่ดี อาจทำให้ไม่สอดคล้องกับวิธีการเล่น ทำให้อาจสิ่งที่ได้รับในเกมผิดพลาดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
.
วิธีที่ 2 ภารกิจ
.
จะเล่นไปทำไมหากไม่มีเป้าหมายให้กับผู้เล่น
การใส่ภารกิจเข้าไปในเกมจะช่วยให้ผู้เล่นมีเป้าหมายว่าจะทำอะไร
และยังเป็นทางเลือกให้ผู้เล่นเลือกว่าจะทำภารกิจใดเพื่อสะสมคะแนนของตนเอง
ภารกิจที่ใส่ในเกมควรมีหลากหลายภารกิจ เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละคนมีสิทธิ์
ที่จะเลือกทำภารกิจที่ตนเองมีโอกาสทำได้มากที่สุด
หรืออาจจะเป็นการกำหนดเพียงภารกิจเดียวจากหลากหลายภารกิจ
เพื่อทำให้การเล่นแต่ละครั้ง ผู้เล่นจะได้รู้สึกไม่ซ้ำซากจำเจ
.
เช่น บอร์ดเกมไฟป่า จะมีการ์ดภารกิจหลายใบ แต่การเล่นแต่ละครั้งจะสุ่มมา 1 ใบ
เพื่อใช้กำหนดเป้าหมายของเกมในครั้งนั้น
หรือ บอร์ดเกม Chembond มีภารกิจให้เลือกทำหลากหลาย
และหงายหน้าออกมาให้ทุกคนได้เห็น ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครทำภารกิจได้ก่อน
การ์ดภารกิจใบนั้นก็จะถูกหยิบออก ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถทำต่อได้ เป็นต้น
.
ข้อดี ผู้เล่นจะรู้สึกไม่ซ้ำซากจำเจ ทำให้อยากเล่นอีกเรื่อย ๆ
ข้อเสีย ถ้ากำหนดให้ภารกิจมีความยากเกินไป ผู้เล่นจะเกิดความเบื่อและไม่อยากเล่นต่อ
.
วิธีที่ 3 เงื่อนไขการจบเกม
.
การกำหนดเงื่อนไขการจบเกม จะทำให้รูปแบบวิธีการเล่นแตกต่างไปในแต่ละเกม
ถ้าหากมีเงื่อนไขการชนะหรือเงื่อนไขการจบเกมที่หลากหลาย
จะช่วยให้เกมสามารถจบได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสจบได้หลายแบบ
.
เช่น บอร์ดเกมเขื่อน มีการจบเกมได้ 2 แบบ ได้แก่
1. ถ้าสามารถปลูกข้าวได้ 20 หน่วย ผู้เล่นทุกคนจะชนะ
2. ถ้าน้ำท่วมที่นาจนเต็มจะทำให้ได้รับเสียงด่าจากชาวบ้าน ถ้าโดนด่าครบ 3 ครั้ง เกมจะจบลง และทุกคนแพ้
.
ข้อดี เงื่อนไขการจบเกมที่ชัดและหลากหลาย จะช่วยให้ผู้เล่นมีเป้าหมายในการเล่นชัดเจน และช่วยลดเวลาเล่นให้กระชับยิ่งขึ้น
ข้อเสีย บางเงื่อนไขผู้เล่นอาจจะไม่ทำ นั่นแปลว่าเงื่อนไขนั้นไม่มีผลต่อเกม ควรตัดออก
.
วิธีที่ 4 การ์ดแอคชั่น
.
ส่วนหนึ่งที่ทำให้บอร์ดเกมมีความสนุกมากขึ้นอย่างชัดเจน ก็คือ การ์ดแอคชั่น
เป็นการ์ดที่ทำให้เกมเกิดความสนุก โดยมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ
.
เช่น
การ์ดแอคชั่นที่ใช้แกล้งกัน
- สุ่มหยิบการ์ดบนมือเพื่อน 1 ใบ
- โจมตีผู้เล่น 1 คน
- ทำให้ผู้เล่น 1 คน เสียเงิน 5 หน่วย
การ์ดแอคชั่นที่ช่วยให้เล่นง่ายขึ้น
- จั่วการ์ดเพิ่มอีก 1 ใบ
- ป้องกันการโจมตีจากคนอื่น 1 ครั้ง
- ผู้เล่นได้เงินเพิ่มขึ้น 5 บาท
.
ข้อดี ทำให้เกมมีมิติในการเล่นมากขึ้น เพิ่มปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม
ข้อเสีย การ์ดบางใบอาจมีความสามารถมากเกินไป หรือบางใบอาจไร้ประโยชน์
.
วิธีที่ 5 ดวง
.
หากทำมาทั้งหมดแล้ว ความสนุกยังเพิ่มขึ้นไม่มากพอ
แอดก็คงต้องงัดไม้ตายสุดท้ายออกมา นั่นก็คือเล่นกับ “ดวง”
ดวงในที่นี้ ได้แก่ การทอยลูกเต๋า การจั่วการ์ด เป็นต้น
.
ข้อดี ทำให้ผู้เล่นสนุกและลุ้นกับเกมอย่างมาก
ข้อเสีย บางคนดวงดีอาจทำให้ได้แต่ของดี ๆ หรือบางคนดวงไม่ดี ทำให้ผู้เล่นรู้สึกไม่ยุติธรรมและเบื่อไม่อยากเล่นต่อ
.
ขอขอบคุณภาพจากเกม chembond
コメント