top of page

Board game กับทักษะการสร้างแบบจำลอง


.

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแอดบอสได้มีโอกาส เข้าไปพูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง

ซึ่งกำลังออกแบบระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานสื่อต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน

.

และ "บอร์ดเกม" ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

.

การสนทนาเป็นไปอย่างเรียบง่ายและกระชับ เนื่องจากเรามีเวลาที่จำกัดพร้อมกับโจทย์ที่เร่งรัดพอสมควร คือ "ใน 3 ชั่วโมงนี้ เราต้องได้ 1 เกม"

.

เป้นอีกความท้าทายที่น่าลิ้มลอง เนื่องด้วยความยากของโจทย์นี้คือเนื้อหาทางเคมี ที่จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน ผู้เล่น เกิด "การสร้างแบบจำลอง" ขึ้นในสมอง

.

วันนี้แอดบอสจึงอยากนำสิ่งที่ได้พูดคุยมาสรุปและเน้นเจาะจงไปที่ #บอร์ดเกมกับการสร้างแบบจำลอง

.

🎲 อะไรคือแบบจำลอง?

.

สำหรับคุณครูหลายท่านน่าจะเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับคำว่า #การสร้างแบบจำลอง หรือ Model-based learning เป็นอย่างดี

.

ซึ่งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วย ทักษะพื้นฐาน 8 ทักษะ และทักษะเพิ่มเติมอีก 6 ทักษะ (ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่อีก 1 ทักษะ คือ ทักษะการสร้างแบบจำลอง)

.

โดยทักษะการสร้างแบบจำลอง คือ การนำเสนอข้อมูล แนวคิด ความคิดรวบยอดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจในรูปของแบบจำลองแบบต่าง ๆ เช่น กราฟ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว วัสดุ สิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ หุ่น เป็นต้น (สสวท.,2556)

.

อย่างที่กล่าวข้างต้น เราจึงได้พูดคุยว่า ในการเรียนการสอนผ่านการใช้บอร์ดเกมทางการศึกษาจะนำไปสู่การส่งเสริมทักษะการสร้างแบบจำลองของนักเรียนได้หรือไม่?

.

หากว่าให้นักเรียนได้เล่นบอร์ดเกมทางการศึกษา แล้วนักเรียนสามารถเกิดความเข้าใจในเนื้อหา เกิดความคิดรวบยอดและนำเสนออออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังที่ระบุไว้ในนิยามข้างต้น ก็แสดงว่าสื่อชนิดนี้ก็สามารถส่งเสริมทักษะการสร้างแบบจำลองได้

.

เราจึงคุยให้ลึกลงไปอีกว่า...

.

🎲 แล้วจะออกแบบเกมอย่างไรให้ผู้เล่นเกิดการความคิดรวบยอดและสามารถนำเสนอออกมาเชิงประจักษ์ได้?

.

เป้าหมายหลักในครั้งนี้คือการสร้างเครื่องมือที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการสร้างแบบจำลองในหัว เราจึงคิดกันว่า ไม่ว่าแบบจำลองนั้นจะ “ถูกหรือผิด” ในเชิงทฤษฎีอย่างไรก็ตาม เราจะไม่คัดค้านผู้เรียน เราจะปล่อยให้เขาได้ทบทวนและนำเสนอพร้อมทั้งให้คำอธิบายกับแบบจำลองเหล่านั้น แต่จะใช้คำถามในการซักไซร้ไล่เรียงเพื่อให้ผู้เรียนได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแบบจำลองนั้น ๆ

.

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เขาไม่สามารถอธิบายได้

ก็จะเกิด #ภาวะไม่สมดุลทางความคิด (Disequilibrium) และเมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายที่จะอธิบายจำลองของตนเองให้ได้ ก็ต้องทำให้เกิด #ภาวะสมดุลทางความคิด (Equilibrium) ซึ่งก็คือการยึดโยงทฤษฎีหรือองค์ความรู้เดิมเพื่อเป็นหลักฐานในการสนับสนุนแบบจำลองของตนเอง

.

หากไม่สามารถทำได้ ก็จะเป็นที่ชัดแจ้งว่าแบบจำลองนั้นมีโอกาสสูงที่จะผิดพลาด

.

ดังนั้นแล้วความท้าทายของสื่อบอร์ดเกมนี้ คือ ในระหว่างการเล่น ผู้เล่นจะต้องเกิดกระบวนการสร้างแบบจำลองในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของ #แบบจำลองทางความคิด (Mental model) ของผู้เรียน ก่อนที่จะตัดสินใจเล่นแบบจำลองนั้น ๆ เพื่อทำคะแนน (ในเกม)

.

เราได้ออกแบบวิธีการเล่นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เป็นนามธรรม (แบบจำลองทางความคิด) ให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด โดยเราได้ใช้การ์ดเกมเป็นตัวกลางที่สื่อแบบจำลองทางความคิดของผู้เรียนให้ออกมาเป็นรูปธรรม

.

โดยได้ออกแบบการ์ดที่เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของการทดลองเกี่ยวกับแบบจำลองอะตอม เช่น การ์ดใบหนึ่งเป็นภาพของขั้วแคโทด และมีเส้นรังสีที่ยิงออกจากขั้วแคโทด ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นขั้วแอโนดพร้อมทั้งเส้นรังสีที่ยิงออกจากขั้วแอโนด เมื่อนำการ์ดทั้ง 2 ใบนี้มาต่อกันก็จะเป็นการทดลองในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการ์ดจะไม่ได้มีแค่ขั้วแคโทดและแอโนดแน่นอน เราได้คิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในการทดลองแบบต่าง ๆ โดยศึกษาจากการทดลองของผู้ค้นพบ ตั้งแต่ดอลตัน ทอมสัน รัทเทอร์ฟอร์ด โบร์ และแบบจำลองอะตอมแบบกลุ่มหมอก (รวมถึงการทดลองที่นำไปต่อยอดอีกมากมาย)

.

ดังนั้นแล้วเกมนี้จะเปรียบประหนึ่งว่าเป็นชิ้นส่วนเลโก้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำมาต่อเล่นในรูปแบบใดก็ได้ ขอแค่เงื่อนไขเดียว คือ อธิบายให้ได้

.

เราได้เพิ่มความท้าทายให้กับผู้เรียน โดยจะไม่สอนเนื้อหาก่อน และไม่บอกว่าใครค้นพบแบบจำลองอะตอมอะไร อย่างไร แต่ให้ผู้เรียนเป็นเสมือนผู้ทำการทดลองเอง พิจารณาเอง และค้นพบด้วยตนเอง

.

🎲 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

.

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การที่ผู้เรียนจะได้แบบจำลองที่ดี จะต้องสามารถอธิบายถึงความเชื่อมโยง เหตุและผล ที่เป็นหลักฐานรองรับแบบจำลองนั้นได้ ดังนั้นแล้วท้าทายที่สุด แบบจำลองที่ผู้เรียนสร้างขึ้นมาก็จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจ อธิบายข้อมูล ทำนาย คาดคะเนเหตุการณ์ (Justi and Gilbert, 2002) ที่มีความเกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับแบบจำลองนั้น ๆ

.

คงจะดีไม่ใช่น้อยหากผู้เรียนสามารถ เรียนรู้ผ่านสื่อที่สนุกอย่าง #บอร์ดเกม และสามารถขัดเกลาทักษะการสร้างแบบจำลองที่ไม่ได้จำกัดแค่การสร้างในเชิงประจักษ์ หยิบจับได้ แต่รวมไปถึงแบบจำลองทางความคิด ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

.

.

References

.

คู่มือการใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์กายภาพ การเคลื่อนที่ พลังงานและคลื่น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6, กันยายน 2556, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี http://www.ipst.ac.th/files/curriculum2556/ManualPhyM4-6.pdf

.

Justi, R., and Gilbert, J. K. (2002). Models and modeling in chemical education. In Gilbert, J. K. (Ed.), Chemical Education: Toward Research-based Practice (pp. 47–68). https://link.springer.com/chapter/10.1007/0-306-47977-X_3

.

หากชื่นชอบคอนแทนท์แบบนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนด้วยนะครับ

ดู 10,890 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page