top of page

Draw การจั่วการ์ด

Series วิเคราะห์กลไกบอร์ดเกมในมุมมองด้านการศึกษา


“Draw - การจั่วการ์ด”

.

เรียกได้ว่าการจั่วคือการกระทำหนึ่งที่เมื่อมีการพูดถึงในที่สาธารณะทีไร ทุกคนก็จะนึกถึง.....ลองคอมเมนท์กันดูนะครับ ว่าจะคิดเหมือนกันไหม ?

.

อาจเป็นเพราะกิจกรรมดังกล่าว เราต่างรู้จักกันอย่างดี ใกล้ตัวชาวบ้านอย่างมาก เพราะเป็นกิจกรรมยามว่างที่มี Engagement และ Challenge สูง ทำให้เกิดการเล่นซ้ำได้บ่อย ๆ บางครั้งอาจมีอารมณ์ร่วมเนื่องจากปัจจัยบางอย่างด้วย แต่เราจะไม่พูดถึงสิ่งนั้นแล้วกัน

.

กลับมาที่กลไกการจั่วการ์ด ผมจะวิเคราะห์ในด้านการนำไปใช้ในการศึกษา ในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ การสื่อสาร การตีความเนื้อหา ผลที่อาจก่อให้เกิดขึ้น การนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้เป็นการรวบรวมประสบการณ์กว่า 3 ปี ที่ทำงานออกแบบบอร์ดเกมด้านการศึกษามานะครับ ไม่ใช่นิยามตายตัวหรือข้อสรุปชี้ชัด 100% แต่เป็นผลมาจากการเก็บข้อมูลผ่านการสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่นที่เกิดขึ้นคร้บ

.

1. ด้านการสื่อสาร

การจั่วการ์ด เป็นกลไกที่สื่อสารเกี่ยวกับการสุ่ม (Random) มองอย่างผิวเผินคือเรื่องของ “ดวง” ดังนั้นแล้วการสื่อสารที่ส่งถึงผู้รับจึงมักจะมองเป็นเรื่องของดวงมากกว่าการแสดงออกของเนื้อหา การนำมาใช้ในบอร์ดเกมการศึกษา จึงมักไม่ใช่ส่วนที่เป็นแกนหลักของเกม แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งในวิธีการเล่นที่เชื่อมโยงไปยังส่วนสำคัญ เช่น เริ่มตามาให้จั่วการ์ด 2 ใบและเลือกเก็บ 1 ใบ ส่วนอีกใบให้ทิ้ง จะเห็นว่าการ “จั่วการ์ด” คือวิธีการที่ทำให้ได้การ์ดมา และการ์ดมักจะทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญของเกมที่สื่อสารเนื้อหา

.

2. ด้านการตีความเนื้อหา

หากมองในมุมของเนื้อหาวิชาก็จะมีเรื่องคณิตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้อง ในเรื่องอัตราส่วน ความน่าจะเป็น เช่น โอกาสที่จะจั่วได้การ์ดพิเศษในกองจั่วที่มีการ์ดพิเศษเป็นสัดส่วน 2/5 เป็นต้น ซึ่งเป็นการจำลองการสุ่ม ความน่าจะเป็นและคำนวรเกี่ยวกับอัตราส่วนได้ มีความคล้ายคลึงกับการใช้ “ลูกเต๋า” เพียงแต่การจั่วการ์ดออกจากกอง โอกาสในการหยิบการ์ดในกองครั้งถัดไปก็จะเปลี่ยนไป ต่างจากลูกเต๋าที่มีโอกาสในการเกิดรูปแบบต่าง ๆ เท่าเดิม เพราะไม่มีการตัดหน้าที่เคยออกมาแล้วออกไป

.

3. ผลที่อาจก่อให้เกิดขึ้น

เมื่อนำมาใช้ในบอร์ดเกมการศึกษา ส่วนที่สำคัญคือการนำกลไกนี้มาใช้แล้วส่งผลต่อการสื่อสารของบอร์ดเกมนั้นอย่างไร? ซึ่งการจั่วการ์ดเป็นวิธีการที่ง่าย เข้าใจไม่ยาก แต่หากนำมาใช้เพื่อสื่อสารเนื้อหาจะทำได้ไม่ดีนัก จึงเหมาะกับการเป็นขั้นตอนหนึ่งในเกมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระทำอื่นๆ ในเกมที่ทำให้ได้มาซึ่งส่วนสำคัญหลัก

.

4. การนำไปประยุกต์ใช้

การจั่วการ์ดที่คุ้นเคยคือ จั่วการ์ด 1 ใบแล้วจากนั้นค่อยเล่น ซึ่งส่วนตัวมองว่าการจั่วเพียงแค่ใบเดียวคือการทำงานของ “ดวง” 100% บอร์ดเกมทางการศึกษามีดวงได้ แต่ส่วนตัวมองว่าควรที่จะให้การใช้ดวงเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นหากนำการจั่วการ์ดไปประยุกต์ใช้ อาจทำได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่าง เช่น จากการจั่วการ์ด 1 ใบ ก็เปลี่ยนเป็นจั่วการ์ด 2 ใบ เลือก 1 ใบเก็บไว้เล่น อีก 1 ใบทิ้งลงกองทิ้ง พฤติการณ์เช่นนี้จะทำให้ผู้เล่นต้อง “เลือกตัดสินใจ” ว่าจะเลือกเอาใบไหนเก็บไว้เล่น พอเป็นบอร์ดเกมทางการศึกษา การตัดสินใจก็ต้องเกิดขึ้นจากการพิจารณาข้อมูลบนการ์ด เพื่อหาความคุ้มค่า ซึ่งผู้เล่นจะต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหา หรือการพยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาเพื่อตัดสินใจ เช่นนี้จะเป็นการลดการทำงานของดวงลงและเพิ่มการตัดสินใจของผู้เล่นเข้าไปด้วย (อาจจะปรับเป็นจั่ว 3 เลือก 1 ทิ้ง 2 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม)

.

ตัวอย่างเกมที่ใช้กลไก “การจั่วการ์ด”

- ไพ่

- UNO

- เหมียวระเบิด

.

สรุป (จากความคิดเห็นส่วนตัว)

การจั่วการ์ดเป็นกลไกที่ง่าย ทำความเข้าใจไม่ยาก สามารถนำมาใช้ในบอร์ดเกมการศึกษาได้ แต่ไม่เหมาะกับการใช้เป็นส่วนสำคัญหลักในการสื่อสารเนื้อหา แต่ควรใช้เป็นวิธีการเล่นหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นได้ “การ์ด” ซึ่งมีเนื้อหาส่วนสำคัญอยู่บนการ์ด

.

————————————————————————

Sereis วิเคราะห์กลไกบอร์ดเกมในมุมมองด้านการศึกษา

.

คือคอนเทนต์ที่แอดบอสจะมาวิเคราะห์กลไกที่ใช้ในการออกแบบบอร์ดเกม โดยมุ่งเน้นไปที่บอร์ดเกมการศึกษา และบอกเล่าประสบการณ์ว่ากลไกแต่ละแบบนั้นเหมาะสมหรือมีข้อดีข้อเสียกับเนื้อหาประเภทไหนอย่างไรบ้าง

.

คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณครูที่กำลังออกแบบบอร์ดเกมด้านการศึกษา จะได้เข้าใจกระบวนการทำงานของกลไกเมื่อจะต้องใช้เพื่อสื่อสารเนื้อหาในเชิงวิชาการครับ

.

หากคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ อย่าลืมแชร์ต่อนะคร้าบบ ขอบคุณครับผม


ดู 756 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page