top of page

การเลือกใช้สถานการณ์ในเกมการเรียนรู้


การเลือกใช้สถานการณ์คือสิ่งที่ยากในการทำเกมการเรียนรู้

.

ยากอย่างไร คุณครูหลายท่านคงเคยพบกับปัญหาขณะทำเกมที่ว่า

จะทำเกมอะไร ทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลหรือเนื้อหาอยู่เต็มมือ แต่ไม่สามารถทำเกมได้ ปัญหาจริง ๆ อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะเลือกใช้สถานการณ์ใดเป็นตัวดำเนินเกม

.

ถ้าเนื้อหาคือแกนหลักของเกม

สถานการณ์ ก็คงจะเป็นตัวเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ สถานการณ์ที่ดีจะดึงให้ผู้เรียนติดตามและอยู่กับเกมไปจนจบ

.

หากเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ ก็คงจะไม่ต่างกันครับ

บทหนังที่ดีจะช่วยทำให้หนังดูสนุกมากยิ่งขึ้น

.

หากแบ่งสถานการณ์ออกเป็นส่วนย่อย ๆ จะประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้

1. สถานการณ์หลัก - คือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง

2. สถานการณ์ขยาย - คือสถานการณ์ที่อยู่ครอบคลุมสถานการณ์หลัก มีรายละเอียดที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงเกิดสถานการณ์หลักได้

3. สถานการณ์ย่อย - คือสถานการณ์ที่เสริมเข้ามาในกรณีที่สถานการณ์หลักไม่สามารถใช้เรียนรู้เนื้อหาได้ครบถ้วน สถานการณ์ย่อยจะช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ โดยจะมีสถานการณ์ย่อยหรือไม่มีก็ได้

.

เช่น ผู้เรียนต้องปกป้องต้นไม้ของตนเองจากปัจจัยและสภาพอากาศแวดล้อม (สถานการณ์หลัก) โดยผู้เล่นแต่ละคนจะสามารถใช้การ์ดปัจจัยและสภาพอากาศในการโจมตีให้น้ำในต้นไม้เหลือศูนย์ หรือช่วยเหลือไม่ให้ต้นไม้ตาย (สถานการณ์ขยาย) เป็นต้น

.

แล้วจะเลือกสถานการณ์อย่างไร แอดมินสรุปเป็น 3 ประเด็นดังนี้ครับ

.

1. สอดคล้องกับเนื้อหา

หากคุณครูกำลังจะทำเกมการเรียนรู้ สถานการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาคือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะสถานการณ์จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น เช่น หากต้องการสอนเกี่ยวกับการคายน้ำ ควรใช้สถานการณ์คือช่วงที่พืชคายน้ำ การออกแบบเกมของผมจึงสมมติให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของต้นไม้ที่ต้องปกป้องพืชของตนเองจากปัจจัยและสภาพอากาศต่าง ๆ หรือเกมเกี่ยวกับเซลล์ ก็เลือกใช้สถานการณ์ภายในเซลล์ ให้มีแบคทีเรียเข้ามาโจมตี และสมมติให้ผู้เรียนเป็นเซลล์ที่จะต้องปกป้องตนเอง (เซลล์) จากแบคทีเรีย เป็นต้น

.

ลองมองในวิชาอื่นนะครับ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการความน่าจะเป็น สถานการณ์ที่ใช้ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นกำลังเจอกับความน่าจะเป็น เช่น ผู้เล่นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนจับตัวไปอยู่บนเกาะที่ต้องใช้ความน่าจะเป็นในการไขปริศนาเพื่อหนีออกจากเกาะนี้ (สถานการณ์หลัก) ซึ่งผู้เล่นจะต้องช่วยกันกับเพื่อนในการเก็บคำใบ้ที่ได้จากการแก้ปริศนา (สถานการณ์ขยาย)

.

2. สถานการณ์เกิดขึ้นได้จริง

ความสมจริงของสถานการณ์จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะผู้เรียนสามารถจินตนาการวิธีแก้ปัญหาและพอจะคาดเดาผลจากการกระทำได้ ซึ่งต่างจากการใช้สถานการณ์ที่ล้ำเหนือจินตนาการ ซึ่งสถานการณ์ที่เหนือจินตนาการจะกระตุ้นผู้เรียนให้สนใจได้ดีมาก แต่ถ้าคุณครูไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้ดีได้ ผู้เรียนจะเบื่อในทันที เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่เขาไม่เข้าใจนั่นเอง ดังนั้นสถานการณ์ที่สมจริงจะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงได้ง่ายและคิดวิธีแก้ปัญหาเชิงรูปธรรมได้

.

3. สร้างความท้าทายให้แก่ผู้เล่น

สถานการณ์ที่ดีไม่ใช่เพียงแค่สอดคล้องกับเนื้อหา และสมจริง แต่ต้องสร้างความท้าทายให้แก่ผู้เล่นด้วย เนื่องจากนำมาใช้เป็นเกมการเรียนรู้ สถานการณ์ต้องเร้าให้ผู้เล่นอยากเรียนรู้ในเกมต่อไป ทำให้เขาไม่รู้สึกต่อต้านเมื่อต้องเรียนรู้เนื้อหาในเกม ความท้าทายจึงเป็นสิ่งสำคัญ การออกแบบสถานการณ์ที่มีความท้าทาย เช่น เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงข้อมูล ผู้เรียนที่ปกติจะไม่ค่อยอยากจะเรียน เมื่อเข้าสู่ระบบเกมจะถูกกระตุ้นให้มีความอยากที่จะแย่งชิงข้อมูล เพราะผู้ที่ครอบครองข้อมูลมากกว่าย่อมมีโอกาสชนะมากกว่า แต่ทังนี้ก็ต้องมีสถานการณ์ที่เอื้อต่อผู้เล่นรั้งท้ายให้เขามีโอกาสเข้าถึงข้อมูลด้วย การแข่งขันจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการกระตุ้นให้เกิดความท้าทายได้ เป็นต้น

.

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การเลือกใช้สถานการณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน สถานการณ์ที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มาก

.

ฝากกดติดตาม กด See first เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสารจาก Boss Lab Board Game นะครับ

.

ดู 98 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page